Cancer Anywhere ช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งสิทธิบัตรทองได้รับการรักษาครอบคลุมทุกกระบวนการ รวมถึงตรวจติดตาม ในโรงพยาบาลที่มีศักยภาพ และใกล้บ้าน ได้อย่างรวดเร็ว
ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาโรคมะเร็งได้อย่างสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น สามารถรักษาข้ามเขต ข้ามจังหวัดได้ ในโรงพยาบาลที่รองรับสิทธิบัตรทอง โดยมีเจ้าหน้าที่คอยประสานงานให้ตั้งแต่เริ่มต้น และไม่ต้องใช้ใบส่งตัว
การเข้ารับการรักษามะเร็งในโรงพยาบาลที่ผู้ป่วยมีสิทธิการรักษา ปกติแล้วจะต้องรอตรวจ และรอการรักษาตามคิวของผู้ป่วย ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้มักจะใช้เวลานาน หลายขั้นตอน แต่ละขั้นตอนใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน กว่าที่เราจะได้ผลชิ้นเนื้อว่าเป็นมะเร็งจริงๆ หรือทราบว่าเป็นมะเร็งชนิดใด จุดนี้เองทำให้เรามีโอกาสการรักษาได้ช้า และอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการมากขึ้นและเพิ่มระยะของมะเร็งได้ ซึ่งถือว่าเป็นคอขวดที่ทำให้กลุ่มผู้ป่วยมะเร็งเข้าถึงการรักษาได้ช้า ทั้งในเรื่องระบบส่งตัวและวินิจฉัย
นโยบาย Cancer Anywhere (แคนเซอร์ เอนี่แวร์) เป็นนโยบายที่จัดทำขึ้นเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็ง ได้รับบริการการรักษาครอบคลุมทุกกระบวนการ ในโรงพยาบาลที่มีศักยภาพและใกล้บ้านโดยเร็วที่สุด สามารถรักษาข้ามเขต ข้ามจังหวัดได้ โดยประกาศใช้เมื่อ 1 ม.ค. 2564
ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเข้าสู่ระบบบริการและได้รับการรักษาพยาบาลด้วยความรวดเร็ว ทั้งยังรองรับการส่งต่อไปรับการรักษายังโรงพยาบาลต่างพื้นที่ที่มีความพร้อมโดยไม่ต้องใช้ใบส่งตัวและไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ
ดูและฟังเนื้อหาแบบ Live สด ได้ที่ https://fb.watch/7j9om56xBI/

ที่ไหนก็ได้ที่พร้อม หมายถึง
หน่วยบริการที่ขึ้นทะเบียนไว้กับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่สามารถรับและส่งต่อผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยแล้ว เข้าสู่กระบวนการรักษาได้รวดเร็ว
เนื่องจากการรักษาโรคมะเร็ง มีการใช้เครื่องมือและความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่แตกต่างกัน สถานพยาบาล/โรงพยาบาลแต่ละที่มีทรัพยากรครอบคลุมแตกต่างกันไป
การรักษาโรคจึงวินิจฉัยเฉพาะบุคคลไปว่าควรรับการรักษาอย่างไร แล้วจึงพิจารณาว่าสามารถรักษาที่ไหนได้บ้าง จึงเป็นที่มาของคำว่า รักษาที่ไหนก็ได้ที่พร้อม(รักษา)
ที่ไหนก็ได้ที่พร้อม จึงไม่ได้หมายถึง จะเข้ารักษาที่ไหนก็ได้ เนื่องจากโรคมะเร็งมีหลายชนิด หน่วยบริการแต่ละแห่งมีศักยภาพในการรักษาแตกต่างกัน เช่น เครื่องมือ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ฯลฯ เพราะกระบวนการรักษาโรคมะเร็งมีมากและซับซ้อนเป็นเฉพาะแต่ละโรค
ครอบคลุมอะไรบ้าง
การรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม ในปีงบประมาณ 2564 มีดังนี้
- เคมีบำบัด : หน่วยบริการรับการส่งต่อทั่วไปที่มีศักยภาพในการให้เคมีบำบัดสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง ซึ่งประกอบด้วย 3 กิจกรรม คือ การสั่งการรักษา การผสมยา และการบริหารยาเคมีบำบัดในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง หรือการให้ฮอร์โมน Tamoxifen สำหรับผู้ป่วยมะเร็งเต้านม
- รังสีรักษา : หน่วยบริการที่รับการส่งต่อเฉพาะด้านรังสีรักษา สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตามที่ สปสช. กำหนด
- หน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นอกเหนือจากข้อ 1 และข้อ 2 ที่ให้การรักษาและบริการโรคมะเร็งดังนี้
- การตรวจเพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรคมะเร็งโดยครอบคลุมการประเมินระยะของมะเร็ง (Staging) ตามมาตรฐานของโรคมะเร็งแต่ละชนิด ทั้งนี้ไม่รวมการคัดกรองเบื้องต้น (Screening) หรือการศึกษาวิจัย
- การรักษาภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคมะเร็ง ภาวะแทรกซ้อนจากการรักษา รวมถึงโรคร่วมที่พบในการรักษาโรคมะเร็งในครั้งนั้น
- การตรวจเพื่อติดตามผลการรักษา (Follow up) ภายหลังการรักษาโรคมะเร็งและโรคร่วมที่พบในการมารับการรักษาโรคมะเร็งในครั้งนั้น
Cancer Anywhere ให้ผู้ป่วยมะเร็งสามารถเข้าสู่กระบวนการรักษาได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ลดการรอคิว และครอบคลุมทุกขั้นตอนการรักษา
ประโยชน์ที่ผู้ป่วยมะเร็งจะได้รับ
- รู้ศักยภาพของโรงพยาบาล : ผู้ป่วยมะเร็งและญาติผู้ดูแลได้รู้ศักยภาพในการรักษาโรคมะเร็งของโรงพยาบาลล่วงหน้า (แต่ละโรงพยาบาลมีทรัพยากรในการรักษาไม่เท่ากัน)
- การส่งต่อผู้ป่วยมะเร็งทำได้ง่าย ไม่ต้องเสียเวลาทำใบส่งตัว โดยจะมีเจ้าที่ประสานงานให้
- ไม่ต้องเดินทางเพื่อขอประวัติการรักษาจากโรงพยาบาลต้นสังกัด เนื่องจากมีการใช้ระบบฐานข้อมูลประวัติการรักษาพยาบาล
- รู้ประวัติ : ผู้ป่วยมะเร็งทราบว่าเป็นโรคอะไร ระยะไหน รักษาอะไรมาบ้าง เป็นข้อมูลย้อนกลับมาถึงผู้ป่วย
- ย้ายหน่วยบริการได้สิทธิทันที ไม่ต้องรอ 15 วัน
ใครรับบริการได้บ้าง
- คนไทยทุกคนที่ใช้ สิทธิบัตรทอง
คลิกเพื่อเช็คสิทธิบัตรทอง - ผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งแล้วเท่านั้น
- ผู้ที่ต้องการรักษาในโรงพยาบาลรัฐบาล
- ผู้ที่ได้รับการส่งตัวจากโรงพยาบาลต้นสังกัดด้วยสิทธิบัตรทอง
- มีบัตรประชาชนแบบสมาร์ทการ์ดเพื่อยืนยันตัวตน